Lifestyle

ไหมแปรรูปเป็นอย่างไร

การผลิตผ้าไหม

ว่ากันด้วยเรื่องของ “เสื้อผ้า” หลายๆ ท่านก็คงจะคิดถึงแฟชั่นเสื้อผ้าแบบต่างๆ ที่น่าสนใจและน่าหามาสวมใส่กันใช้มั้ยหล่ะครับ ซึ่งทุกๆ ท่านเคยคิดสงสัยเกี่ยวกับวัตถุดิบที่นำมาผลิตเสื้อผ้ากันหรือไม่? วันนี้เราเลยจะพาทุกๆ ท่านไปศึกษาเกี่ยวกับ “ไหมแปรรูปเป็นอย่างไร” กันครับ จะเป็นอย่างไร มีข้อมูลแบบไหน…เราไปชมกันดีกว่าครับ

ทำความรู้จักกับ ไหมแปรรูป

ไหม เป็นเส้นใยโปรตีนธรรมชาติ มีความเหนียว ทนทาน และมันวาว สามารถนำไปใช้ทอเป็นผืนผ้าได้อย่างงดงาม ไหมที่พบได้ทั่วไปส่วนมากมาจากตัวอ่อนของตัวไหมหรือผีเสื้อไหมมัลเบอรรีชนิดที่เรียกว่า Bombyx mori ซึ่งชักใยออกมาพันรอบตัวขณะเป็นดักแด้ก่อนจะเจาะออกมาเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัย การดึงเส้นไหมออกจากดักแด้ หรือปลอกไหม เรียกว่า การสาวไหม ความเงามันวาวของเส้นไหมนั้น มาจากคุณสมบัติของโครงสร้างที่คล้ายปริซึมสามเหลี่ยมของเส้นใยนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ผ้าไหม (ผ้าที่ทอจากเส้นไหม) จึงมีความมัน สะท้อนแสงเป็นประกายวับวาวจากมุมต่าง ๆ ที่ทำให้สะท้อนออกเป็นสีต่าง โดยไหมแปรรูป คือ เส้นใยที่ได้จากรังไหมนำมาแปรรูปเป็นไหมแบบต่างๆ ที่จะเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเสื้อผ้านั้นเองครับ

ไปทำความรู้จักกับ “กระบวนของการผลิตผ้าไหม” กันสักหน่อยดีกว่า

การผลิตผ้าไหมนั้น มีขั้นตอนแยกย่อยหลายขั้น ซึ่งเราจะสรุปมาเป็นข้อหลักๆ ดังต่อไปนี้ครับ

การเตรียมเส้นไหม จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. การเตรียมเส้นไหมพุ่ง การเตรียมเส้นไหมพุ่ง จะเป็นการเตรียมเส้นไหมเพื่อตรียมพร้อมสำหรับการนำไปมัดหมี่โดยใช้เครื่องมือในการการค้นลำหมี่ โดยการนำเส้นไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว มาทำการค้นปอยหมี่เพื่อให้ได้ลำหมี่พร้อมสำหรับการไปมัดหมี่ในกระบวนการต่อไป

2. การเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) โดยการค้นหูกหรือค้นเครือ คือ กรรมวิธีนำเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือไปค้น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนของผู้ทอผ้าไหมตามที่ต้องการ ไหมหนึ่งเครือจะทำให้เป็นผ้าไหมได้ประมาณ 20-30 ผืน (1 ผืนยาวประมาณ 180-200 เซนติเมตร)

ขั้นตอนการมัดหมี่

การมัดหมี่ คือ การทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสันต่างๆตามแบบหรือลายที่ได้ออกแบบไว ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบลายที่เป็นแบบลายโบราณและแบบที่เป็นลายประยุกต์ โดยการมัดเส้นไหมให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่งด้วยเชือกฟางมัดลายแล้วนำไปย้อมสี แล้วนำมามัดลายอีกแล้วย้อมสีสลับกันหลายครั้ง เพื่อให้ผ้าไหมมีลวดลายและสีตามต้องการ เช่น ผ้าที่ออกแบบลายไว้มี 5 สี ต้องทำการมัดย้อม 5 ครั้ง เป็นต้น

ขั้นตอนการย้อมสี

การย้อมสีไหมจะต้องนำไหมดิบมาฟอกเพื่อไม่ให้มีไขมันเกาะ โดยจะใช้ด่างจากขี้เถ้าไปฟอกไหม เรียกว่า “การดองไหม” จะทำให้เส้นไหมขาวนวลขึ้น แล้วจึงนำไปย้อม ในสมัยก่อนนิยมใช้สีจากธรรมชาต แต่ปัจจุบันการย้อมด้วยสีธรรมชาติเริ่มหายไป เนื่องจากมีสีวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ ที่หาซื้อง่ายตามร้านขายเส้นไหมหรือผ้าไหม เมื่อละลายน้ำจะแตกตัว ย้อมง่าย สีสดใส ราคาค่อนข้างถูกทนต่อการซักค่อนข้างดี การย้อมด้วยสีธรรมชาติมีข้อดี คือ สีไม่ฉูดฉาด สีอ่อนเย็นตากว่าสีสังเคราะห์ จึงทำให้สีของผ้างดงามสัมพันธ์กับรูปแบบของผ้าพื้นเมือง สีธรรมชาติจะติดสีได้ดีในเส้นไหมและฝ้าย วิธีย้อมคือ การคั้นเอาน้ำจากพืชที่ให้สีนั้นๆ ต้มให้เดือด จากนั้นนำไหมชุบน้ำให้เปียกบิดพอหมาด กระตุกให้เส้นไหมเรียงเส้นจึงแช่ในน้ำย้อมสีที่เตรียมไว จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้งจะได้เส้นไหมที่มีสีตามต้องการ

ขั้นตอนการทอผ้า

ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะออกมาเป็นผ้าผืน คือการทอผ้าไหมจะประกอบไปด้วยเส้นไหม 2 ชุด คือชุดแรกเป็น “เส้นไหมยืน” จะขึงไปตามความยาวผ้าอยู่ติดกับกี่ทอ(เครื่องทอ) หรือแกนม้วนด้านยืน อีกชุดหนึ่งคือ “เส้นไหมพุ่ง” จะถูกกรอเข้ากระสวย เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉาก ทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ละด้าน แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน ส่วนลวดลายของผ้านั้นขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าตามแบบของผู้ทอที่ได้ทำการมักไว้นั้นเองครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับข้อมูลเกี่ยวกับ “ไหมแปรรูปเป็นอย่างไร” พร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับ การผลิตผ้าไหมที่เราได้นำมาฝากทุกๆ ท่าน คิดว่าน่าจะเป็นข้อมูลที่น่าสนใจกันนะครับ