Lifestyle

สีย้อมเสื้อผ้าอันตรายสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

อุตสาหกรรมเสื้อผ้ากับสิ่งแวดล้อม

ว่ากันด้วยเรื่องเกี่ยวกับ “เสื้อผ้า” นั้น…เป็นอะไรที่หลายๆ ท่านสัมผัสกันอยู่ตลอดเวลากันอยู่แล้วถูกมั้ยครับ ซึ่งเสื้อผ้านั้นมีมากมายหลายรูปแบบเลย แล้วทุกๆ ท่านรู้กันหรือไม่ครับว่า “กระบวนการผลิตเสื้อผ้า” มีหลายอย่างที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วยหล่ะครับ วันนี้เราจะพาทุกๆ ท่านไปพบกับ “สีย้อมเสื้อผ้าอันตรายสิ่งแวดล้อมอย่างไร” ที่พวกเราได้จะพาไปค้นหาคำตอบกันครับ

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรได้บ้าง?

ปริมาณของเสีย (Waste) ที่เกิดจากเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งแล้ว การผลิตเสื้อผ้าก็ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยตั้งแต่เรื่องของปริมาณน้ำที่ต้องใช้และน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต รวมถึงผลกระทบจากสีย้อมผ้าที่ส่งผลต่อมลพิษทางน้ำ นอกจากนี้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์ต่างๆ ทั้งไนลอนหรือโพลิเอสเตอร์ ก็ส่งผลต่อการสร้างก๊าซเรือนกระจกด้วย ซึ่งของเสียจากกระบวนการผลิตสิ่งทอและจากเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับโลกใบนี้ เพียงแต่ในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมาธุรกิจแฟชั่นและเสื้อผ้ามีการเติบโตมากขึ้นอย่างมากมาย ขณะเดียวกันพฤติกรรมในการซื้อและใช้ เสื้อผ้าของคนก็เปลี่ยนไป การถือกำเนิดของธุรกิจที่เรียกว่าเป็น Fast Fashion ทำให้มีเสื้อผ้าที่สวยงาม ทันสมัยออกมาอย่างรวดเร็วและในปริมาณที่มาก ในอดีตนั้นธุรกิจแฟชั่นและเสื้อผ้าจะอิงกับฤดูกาลต่างๆ แต่การเติบโตของแบรนด์ Fast Fashion ต่างๆ ทำให้ในปีๆ หนึ่งสามารถเปลี่ยน Collection ของเสื้อผ้าได้มากมายหลายแบบ จึงทำให้เกิดการผลิตเสื้อผ้าอย่างล้นหลามเลยหล่ะครับ

โดยอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ราว 8-10% ของอัตราการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก และปล่อยน้ำเสียเกือบ 20% ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลก พร้อมสารเคมีมากมาย โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าใช้พลังงานมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ มากมายเลยหล่ะครับ

สีย้อมเสื้อผ้าอันตรายสิ่งแวดล้อม

สีย้อม เป็นสารเคมีที่สกัดจากน้ำมันปิโตรเลียมหรือถ่านหิน เมื่อน้ำมันปิโตรเลียมหรือถ่านหินผ่านการสกัดจะได้สารไอโดรคาร์บอนที่ไม่อิ่มตัว เช่น เบนซิน ไซลีน แอนทราซีน โทลูอีน แนฟทาลีน และพาราฟิน ซึ่งสารไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้ จะถูกเปลี่ยนเป็นสีย้อมด้วยเทคนิคต่างๆ ซึ่งสีย้อมที่ผลิตขึ้นมามีหลายชนิดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับเส้นใยและกระบวนการย้อมที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป สีย้อมเป็นสารที่จัดได้ว่ามีความเป็นพิษต่ำ โดยไม่พบว่ามีอัตราการตายหรือเจ็บป่วยของผู้ที่ทำงานในโรงงานฟอกย้อมสูงกว่าบุคคลอาชีพอื่นแต่อย่างใด สีย้อมอาจเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางจมูกโดยการสูดดม ทางผิวหนังโดยการสัมผัส และทางระบบทางเดินอาหาร แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าสารวัตถุดิบที่ใช้ในการสังเคราะห์สีย้อม มีจำนวนไม่น้อยที่มีความเป็นพิษสูงมากและมีหลายตัวเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น 2-naphthylamine และ benzidine เป็นต้น

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสีย้อมในน้ำทิ้งจากโรงงาน คือ ก่อให้เกิดความไม่สวยงามทางทัศนียภาพ ขัดขวางการเดินทางของแสง ซึ่งจำเป็นต่อการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำ  ลดอัตราถ่ายเทออกซิเจนจากผิวหน้าสู่แหล่งน้ำ ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดต่ำลงกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ และมีความเป็นพิษและเป็นสารก่อมะเร็ง

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “Fast Fashion” ตัวร้าย

คำว่า “Fast Fashion” คือ การที่เสื้อผ้าตามกระแสที่เน้นสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้ง มีกระบวนการผลิตที่เน้นความรวดเร็วฉับไว ใช้ต้นทุนต่ำทั้งในส่วนของวัตถุดิบในการผลิตและแรงงาน เพื่อที่ให้เสื้อผ้านั้นมีราคาไม่แพง เข้าถึงได้ง่าย เป็นแฟชั่นวงจรสั้นๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ เน้นการขายปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว จึงก่อให้เกิดการสะสมของเสื้อผ้าเหลือใช้เป็นจำนวนมากเลยหล่ะครับ

ผลเสียของ Fast Fashion ที่น่ากังวน

กระแส Fast Fashion ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซื้อเสื้อผ้าตามสมัยนิยม ไม่คำนึงถึงการใช้งานในระยะยาว เน้นราคาถูก เพราะเมื่อไม่ใส่แล้วจะทิ้งได้อย่างไม่เสียดาย จนเกิดเป็นพฤติกรรมการบริโภครวดเร็ว เปลี่ยนง่าย เบื่อเร็ว ก่อให้เกิดขยะเสื้อผ้าอย่างมหาศาล นอกจากนี้ด้วยกระบวนการผลิตเสื้อผ้าก็ทำต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมากเลยหล่ะครับ แบบนี้ทำให้เกิดมลภาวะแถมยังใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองเอามากๆ ครับ

แนวทางการแก้ปัญหา Fast Fashion ที่ทำได้ด้วยตนเอง

●ซื้อเสื้อผ้ามือสอง กล่าวได้ว่าเสื้อผ้าแบรนด์ของไทยเองนั้นราคาค่อนข้างแรงทำให้หลายๆคนไม่สามารถบริโภคได้ ซึ่งการเลือกซื้อ เสื้อผ้ามือสอง ก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่สามารถแก้ปัญหาได้ในเรื่องนี้ การซื้อเสื้อผ้ามือสองนอกจากจะเป็นการลดฟาสแฟชั่นแล้ว ยังมีราคาที่ไม่แพง คุณภาพดี ช่วยสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และยังช่วยลดขยะได้อีกด้วย

●นำเสื้อผ้ามาใส่ซ้ำ เราทุกคนสามารถรณรงค์การ Slow Down Fast Fashion โดยลดการซื้อและเน้นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพ อาจจะเลือกแบบหรือโทนสีเพลนๆสไตล์มินิมอลที่สามารถนำมาใส่ซ้ำได้ไม่เบื่อ หรือนำมามิกซ์แอนด์แมทซ์กับเสื้อผ้าที่มีอยู่ให้ได้เยอะที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการ Single-Use ซึ่งในขณะเดียวกันถ้าเราใส่เสื้อผ้าซ้ำ ซักหลายๆรอบอาจจะทำให้ผ้าบางลงหรือเกิดการชำรุดได้ เราอาจจะต้องหาตัวช่วยด้วยการใช้ถุงซักผ้าหรือถุงถนอมผ้าเพื่อช่วยถนอมรักษาเส้นใย รักษารูปทรงของเนื้อผ้า และยังลดการเกิดเสื้อผ้าพันกัน บิดเบี้ยว หรือว่าเสียรูปทรงอีกด้วย

และนี้ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ “สีย้อมเสื้อผ้าอันตรายสิ่งแวดล้อมอย่างไร?” ที่พวกเราได้รวบรวมมาฝากทุกๆ ท่านกันครับ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ที่น่าสนใจกันนะครับ